ใบไม้...สื่อเพื่อการเรียนรู้ของหนู
ลมพัดปลิวไหวไหว
กิ่งก้านใหญ่พอทานลม
ใบไม้คนนิยม
ใช้เป็นร่มกั้นแดดฝน
ใบไม้คราใบเขียว
น่าดูเชียวสายตาคน
ชอุ่มคราวยามยล
เหมือนฟ้าดลให้คู่กัน
บัดนี้ใบไม้แห้ง ลมพัดแรงก็หล่นพลัน
หล่นพื้นหลายคืนวัน
จึงเป็นชั้นซ้อนดินดาน
ใบไม้กลายเป็นปุ๋ย
ดินร่วนซุยเมื่อเนิ่นนาน
ปุ๋ยใดจักเทียมปาน
เกิดจากการทับถมใบ
(บัวกันต์
วิลามาศ-ประพันธ์)
จากบทร้อยกรองข้างต้น ทำให้เราเห็นประโยชน์ของใบไม้มากมาย
ทั้งเป็นที่กันลมกันแดด ให้ความสบายตาสบายใจ ให้ปุ๋ยอันเป็นประโยชน์ต่อผืนดิน
และสำหรับเด็กๆ แล้ว "ใบไม้"
ยังให้ประโยชน์อีกมากมายจนเราอาจทึ่งว่าของใกล้ตัวอย่างใบไม้...ใครจะไปคิดว่าคุณพ่อคุณแม่
(หรือคุณครู)
สามารถนำมาเป็นเครื่องมือให้เจ้าตัวน้อยได้เรียนรู้สารพัดเรื่องราวได้ขนาดนี้
ลองชวนเด็กๆ เก็บใบไม้ที่เขาเห็นใกล้ตัวมาหลายๆ แบบ
แล้วมาเรียนรู้เรื่องต่างๆ กัน บางเรื่องผู้ใหญ่อย่างเราๆ
เองก็อาจไม่ได้สังเกตมาก่อนเหมือนกันว่าใบไม้น่ะมีเรื่องราวแฝงอยู่มากมาย
เรียนรู้เรื่องสี ใบไม้มีหลายสี
ตั้งแต่สีเขียวสีเขียวที่เราคุ้นเคยไปจนถึงระดับต่างๆ สีเหลือง สีส้ม สีแดง
สีน้ำตาล
เรียนรู้เรื่องรูปทรง แค่ใบไม้ในสวนหลังบ้าน
ก็มีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างกันมากมาย ทั้งใบเรียวยาว ใบกลมป้อม
ใบคล้ายหยดน้ำขนาดใหญ่ หรือใบมะนามไม่มีแฉก ใบตำลึงมีแฉก เป็นต้น
ลองจับมาเรียงดูสิแล้วเราจะทึ่งกับความแตกต่างของรูปทรงใบไม้ที่เห็น
เรียนรู้เรื่องขนาด ใบไม้มีตั้งแต่ใบเล็กจิ๋ว เช่น ใบมะขาม ใบขนาดกลาง
เช่น ผักบุ้ง ไปจนถึงใบใหญ่ เช่น ใบกล้วย (ใบตอง) หรือใบบัว เป็นต้น
เรียนรู้รื่องผิวสัมผัส ใบไม้จะมีด้านที่เป็นเส้นใบนูนขึ้นมา ให้เด็กๆ
เอามือลูบดูผิวสัมผัสนั้น
และสังเกตความแตกต่างของเส้นใบนั้นว่าแต่ละชนิดมีเส้นใบที่ต่างกันหรือไม่ อย่างไร
หรือบางชนิดก็แข็งหนา บางชนิดก็บาง ให้ลูกได้สัมผัสถึงความแตกต่างนี้
เรียนรู้วิทยาศาสตร์ ให้เด็กๆ สังเกตใบไม้สด (สีเขียว) กับ ใบแห้ง
(สีน้ำตาล) ลองถามเขาว่ามันแตกต่างกันอย่างไร ทำไมถึงเป็นเช่นนี้
นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการสอนเรื่องความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติตามหลักวิทยาศาสตร์
เรียนรู้จำนวน ลองให้เด็กๆ
นับจำนวนใบไม้ในแต่ละกิ่งที่เขาตัดมาว่ามีเท่าไหร่
และเปรียบเทียบว่าต้นไม้ที่ต่างชนิดกันมีจำนวนใบในแต่ละกิ่งเท่ากันหรือแตกต่างกั
น เด็กๆ จะเห็นว่าใบไม้มีทั้งใบเดี่ยว
คือใบที่มีแผ่นใบไม้เพียงแผ่นเดียวบนก้านใบที่แตกออกจากกิ่งหรือลำต้น และใบประกอบ
คือใบที่มีใบย่อยมากกว่าหนึ่งใบบนก้านใบ ลองนับและสังเกตกันดูสิจ๊ะ
เรียนรู้เรื่องประโยชน์ เด็กๆ
จะได้เรียนรู้ว่าใบไม้สีเขียวนั้นมีประโยชน์ต่อทุกสิ่งบนโลก สีเขียวให้ออกซิเจน
ให้ความสดชื่นสบายตาสบายใจ
ส่วนใบไม้ที่แก่ถึงเวลาที่ต้องร่วงหล่นลงพื้นนั้นก็จะเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยให้พื้นดินต่อไป
ทำศิลปะง่ายๆ จากใบไม้กันเถอะ
* พิมพ์ภาพใบไม้ การทำภาพพิมพ์จากใบไม้สามารถทำได้ทั้งในลักษณะสีแห้ง
คือการฝนสีเทียนบนกระดาษบางที่ทาบบนใบไม้ โดยหงายด้านที่เป็นเส้นใบขึ้น
ลายเส้นของใบไม้จะปรากฏขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจน
และการพิมพ์โดยการระบายสีโปสเตอร์บนใบไม้ แล้วคว่ำไปบนวัสดุที่ต้องการพิมพ์ เช่น
กระดาษ หรือผ้า
* นำใบไม้มาแต่งภาพ โดยใช้ใบไม้มาจัดแต่งภาพ เช่น อาจให้เด็กๆ
นำใบไม้ทั้งใบที่มีลักษณะคล้ายต้นไม้มาติดในภาพเป็นภาพต้นไม้
อาจนำใบไม้ที่มีลักษณะคล้ายพระจันทร์เสี้ยวมาติดเป็นรูปพระจันทร์ หรือให้เด็กๆ
จินตนาการต่อเติมภาพจากใบไม้ หรืออาจนำใบไม้หลายสีมาตัดเป็นรูปทรง รูปร่างต่างๆ
แล้วนำมาประกอบเป็นภาพของตัวเอง
* ทำงานประดิษฐ์จากใบไม้ สามารถนำมาทำงานประดิษฐ์ได้มากมาย
เช่นทำโมบาย ทำพวงหรีดแบบง่ายๆ เป็นส่วนประดับหมวก ทำเป็นปีกผีเสื้อ ฯลฯ
โมบายใบไม้
นำใบไม้ที่มีสีสันสวยงาม สดใส นอกจากสีเขียวอาจเป็นใบสีเหลือง สีแดง และใบไม้แห้ง
มาร้อยหรือติดกาวให้ยาวเป็นสายลงมาหลายๆ เส้น แล้วนำไปผูกที่น้าต่างหรือประตู
เป็นโมบายใบไม้ที่สวยงาม โดยไม่ต้องซื้อหาเลย
*
ดนตรีจากใบไม้ รู้มั้ยว่าเราสามารถสร้างเสียงดนตรีจากใบไม้ได้
ด้วยการเป่าใบไม้ให้เกิดเสียง อาจต้องอาศัยการฝึกฝนบ้าง แต่ก็ไม่ยากที่จะลองทำดู
ขั้นแรกก็เลือกใบไม้ที่มีความบาง มีความมัน ยืดหยุ่นได้ดี เช่น ใบฝรั่ง ใบมะม่วง
ใบมะยม หรือใบอ่อน ฯลฯ แล้วใช้ริมฝีปากและแรงลมเป่า
เพื่อให้ริมฝีปากกับใบไม้ออกเสียงได้ตรงตามเสียงที่ต้องการ
เรียนรู้กันเพิ่มเติม...